การศึกษาด้านปฏิบัติหรือวิปัสสนาธุระ
ในทางพระพุทธศาสนา กล่าวถึงธุระของสงฆ์ ว่ามี ๒ อย่าง คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ
ธุระคือ ภารกิจทางคันถะก็คือ การศึกษาคำสอนของพระศาสดา ว่าคำสอนของ พระศาสดามีอย่างไร การศึกษาคำสอนของพระศาสดานั้น ทางการสงฆ์ท่านเรียกว่า ปริยัติธรรม แบ่งการเรียนออกเป็น ๒ หลักสูตร คือ หลักสูตรนักธรรมและหลักสูตรบาลี หลักสูตรนักธรรม มี ๓ ชั้น คือ นักธรรมตรี โท เอก ส่วนหลักสูตรบาลีนั้นเรียนคำสอนของพระศาสดาที่เป็นบาลี หากใครเรียนจบเปรียญ ๙ ถือว่าจบชั้นสูงสุด
ธุระคือ ภารกิจทางวิปัสสนาก็คือ การศึกษาพัฒนาใจ ได้แก่ การนำคำสอนของ พระศาสดาทั้งหลักสูตรนักธรรมและบาลีมาฝึกฝนอบรมจิตใจเพื่อให้แจ้งนิพพาน หลักสูตรนี้ ท่านวางไว้ ๒ คือ สมถะและวิปัสสนา ตามที่ปรากฏไว้ในหนังสือวิสุทธิมรรคนั้น
กล่าวถึงธุระทั้ง ๒ คือ คันถะ และวิปัสสนา ในวงการของสงฆ์ไทยสมัยนั้นปรากฏว่า ด้อยทั้ง ๒ ธุระ
ธุระทางปริยัติธรรม ก็หาที่เรียนไม่ได้ กลับมาดูธุระทางวิปัสสนา ยิ่งไปกันใหญ่ จะเอาแบบเอาแนวไม่ได้กันเลย มีเล่าเรียนกันบ้างก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ ปุรพชนเรียนกันมาอย่างไร เรามักเรียนกันอย่างนั้น
สรุปแล้ว ธุระทั้ง ๒ คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ รอผู้รู้มาบุกเบิก รอผู้มีบุญผู้นั้น
ตามที่กล่าวนี้เป็นเหตุการณ์ก่อนสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฯ
กลับมาศึกษาประวัติการเรียนวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อต่อไปว่ามีความพิสดารอย่างไร
เคยกล่าวแล้วว่า หลวงพ่อเรียนไม่เหมือนใคร ส่วนใหญ่เขาจะเรียนแต่คันถธุระอย่างเดียว ส่วนการเรียนวิปัสสนาธุระ เอาไว้เรียนเมื่อจบการเรียนคันถธุระแล้วหากมีโอกาส หากโอกาส ไม่อำนวย ก็ไม่ต้องเรียน
แต่หลวงพ่อเรียนทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระคู่กันไป
ไม่ทราบว่า หลวงพ่อท่านเอาเวลาที่ไหนมา เพราะคันถธุระต้องเอาเวลาไปท่องบ่น การเจียดเวลาไปเรียนได้ นับว่าหลวงพ่อบริหารเวลาได้เก่ง ประเด็นสำคัญที่เราข้องใจก็คือ การเรียนปริยัติกับปฏิบัติไม่เหมือนกัน ปริยัติเป็นเรื่องการท่องบ่นจดจำ แต่ปฏิบัติเป็นเรื่องการทำใจ ขณะทำใจ ใจย่อมประหวัดไปในเรื่องที่เราผ่านมา หลวงพ่อเอาจริงต่อการเรียนปริยัติ ความรู้ร้อยแปดจากปริยัติย่อมจะมานึกคิดในการทำภาวนา ปรากฏว่าการเรียนวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อดำเนินไปด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไร ใจหลวงพ่อไม่ประหวัด เมื่อจะทำอะไรก็มีใจในสิ่งนั้นสิ่งเดียว นี่คือ ความอัจฉริยะของหลวงพ่อในทางวิปัสสนา
การค้นคว้าประวัติการเรียนวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อ ค้นได้ง่ายเพราะหลวงพ่อบันทึกไว้ บันทึกการเรียนวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อเท่าที่สรุปย่นย่อได้ความดังนี้
เมื่อวันบวชได้เรียนวิปัสสนาธุระกับพระอนุสาวนาจารย์ของท่านคือ พระอาจารย์เหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี (ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อโหน่ง ต่อมาไปเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนมะดัน หรือเรียกอีกชื่อว่า วัดคลองมะดัน ต่อมาเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดอัมพวัน อยู่ในท้องที่อำเภอสองพี่น้อง ไม่ไกลจากวัดสองพี่น้องเท่าไรนัก หลวงพ่อโหน่งเป็นอาจารย์ที่เคารพของชาวสุพรรณบุรี ตราบจนทุกวันนี้ รถยนต์และรถประจำทางจะมีภาพถ่ายของหลวงพ่อโหน่ง พระเครื่องของท่านมีชื่อเสียงมากในปัจจุบัน)
บวชได้เพียงวันที่ ๒ เท่านั้น หลวงพ่อก็ไปเรียนวิปัสสนาธุระกับหลวงพ่อเนียม วัดน้อย จังหวัดสุพรรณบุรี อาจารย์ที่สามได้แก่ เจ้าคุณสังวรานุวงษ์ (เอี่ยม) วัดราชสิทธาราม อาจารย์ที่ ๔ พระครูญาณวิรัติ (โป๊) วัดพระเชตุพน ฯ อาจารย์ที่ ๕ พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ หลังวัดระฆัง โฆสิตาราม วิปัสสนาแบบของพระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ และแบบของพระครูญาณวิรัติ หลวงพ่อทำได้ แต่ยังไม่เป็นที่พอใจจะสอน จึงเรียนต่อไป ในช่วงนี้ หลวงพ่อจำพรรษาอยู่วัดพระเชตุพน ฯ (วัดโพธิ์) ซึ่งมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) เป็นเจ้าอาวาส
ในพรรษาที่ ๑๒ หลวงพ่อได้กราบลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) เจ้าอาวาส วัดพระเชตุพน ฯ ไปจำพรรษาที่วัดบางคูเวียง คลองบางกอกน้อย จังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้ได้มาระลึกถึงคุณของท่านเจ้าอาวาสวัดบางคูเวียง (เจ้าอธิการชุ่ม) ที่ได้ถวายหนังสือมูลกัจจายน์และหนังสือธรรมบทแก่หลวงพ่อ ในตอนที่หลวงพ่อเรียนปริยัติอยู่นั้น เมื่อไปอยู่วัดนั้นจะได้เทศน์แสดงธรรมตอบแทนค่าของหนังสือที่ถวาย หลวงพ่อท่านคิดอย่างนั้น
อุโบสถวัดบางคูเวียง เป็นมหาวิทยาลัยสำคัญ ที่หลวงพ่อใช้เรียนวิปัสสนาธุระส่วนตัว เป็นมหาวิทยาลัยแปลกเอามากทีเดียว เพระไม่มีครูมีแต่นักเรียน และมีนักเรียนคนเดียว นักเรียน ผู้นั้นคือหลวงพ่อวัดปากน้ำ มีวิธีเรียนที่แปลกพิสดาร ใช้เวลาเรียนไม่นาน ทำได้แล้วถือว่า จบหลักสูตรวิปัสสนาธุระ ความรู้ที่ได้จากการเรียนคราวนี้ เป็นกุญแจทองเปิดกรุวิปัสสนาเล่มใหญ่ เรื่องราวมีดังนี้
ระลึกขึ้นได้ว่า ในเมื่อเราตั้งใจจริงในการบวช จำเดิมอายุ ๑๙ เราได้ปฏิญาณตนบวช จนตาย ขออย่าให้ตายระหว่างก่อนบวช บัดนี้ก็ได้บอกลามาถึง ๑๕พรรษาย่างเข้าพรรษานี้แล้ว ก็พอควรแก่ความประสงค์ของเราแล้ว “บัดนี้ ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็น เราก็ยังไม่ได้บรรลุ เรายังไม่รู้ไม่เห็น สมควรแล้วที่จะต้องกระทำอย่างจริงจัง” เมื่อตกลงใจได้ดังนี้แล้ว วันนั้นเป็น วันกลางเดือน ๑๐ ก็เริ่มเข้าอุโบสถตั้งแต่เวลาเย็น
“ตั้งสัตย์อธิษฐานแน่นอนลงไปว่า ถ้านั่งลงไปครั้งนี้ ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการ เป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิต”
เมื่อตั้งจิตมั่นลงไปแล้ว ก็เริ่มปรารภนั่ง ได้แสดงอ้อนวอนต่อพระพุทธเจ้าว่า “ขอพระองค์ได้ทรงกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุดที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้ว แด่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้า รู้ธรรมของพระองค์แล้วเป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์ ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแด่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้ารับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์จนตลอดชีวิต”
พออ้อนวอนเสร็จแล้ว ก็เริ่มปรารภเข้าที่นั่งสมาธิ มานึกถึงมดตามช่องแผ่นหินยาว และบนแผ่นหินบ้าง ไต่ไปมาอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก จึงหยิบเอาขวดน้ำมันก๊าดมา เอานิ้วจุกเข้าที่ปากขวด แล้วตะแคงขวดให้เปียกนิ้ว แล้วเอามาลากเป็นทางให้รอบตัว จะได้กันไม่ให้มาทำอันตรายในเวลานั่งลงไปแล้ว พอเอานิ้ววงไม่ทันถึงครึ่งวงตัวที่นั่ง ความคิดอันหนึ่งเกิดขึ้นว่า
“ชีวิตสละได้ แต่ทำไมยังกลัวมดอยู่เล่า” นึกอายตัวเองขึ้นมาเลยวางขวดน้ำมัน แล้วเข้าที่ทำภาวนาในเดี๋ยวนั้น ประมาณครึ่งหรือค่อนคืน ไม่มีนาฬิกา “ได้เห็นผังของจริงของพระพุทธเจ้า” ซึ่งมีเนื้อหาวิชาอยู่ในหนังสือ ๑๘ กาย ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ
ในขณะนั้น ก็เกิดวิตกว่า คัมภีร์โรจายังธรรม เป็นของลึกซึ้งเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิด ถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ ก็เข้าไม่ถึง “ที่จะเข้าถึง ต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด ตรองดูเถิดท่านทั้งหลาย นี้เป็นของจริง หัวต่อมีอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้ก็ไม่มีไม่เป็นเด็ดขาด”
วิตกอยู่อย่างนี้สักครู่ใหญ่ๆ ก็กลัวว่าความมีความเป็นนั้นจะเลือนไปเสีย จึงเข้าที่ต่อไปใหม่ ราวสักสามสิบนาที ก็เห็นวัดบางปลาปรากฏ เหมือนตัวเองไปอยู่ที่วัดนั้น แต่พอชัดดีก็รู้สึกตัวขึ้นมา จึงมีความรู้สึกขึ้นว่า จะมีผู้รู้เห็นได้ยากนั้นในวัดบางปลานี้ จะต้องมีผู้รู้เห็นได้แน่นอน จึงมาปรากฏขึ้นบัดนี้ ต่อแต่นั้นมา ก็คำนึงจะไปสอนที่วัดนั้นอยู่เรื่อย ๆ มาจนถึงออกพรรษารับกฐินแล้ว ก็ลาสมภารวัดบางคูเวียง ไปสอนที่วัดบางปลาราวสี่เดือน มีพระทำเป็น ๓ รูป คฤหัสถ์ ๔ คน นี้เป็นเริ่มต้น “แผ่ธรรมกายของจริง” ที่แสวงหาได้มาจริงปรากฏอยู่จนบัดนี้
จบประวัติการศึกษาวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อ
วิจารณ์และตั้งข้อสังเกต
การศึกษาวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อ
เหตุที่เราต้องวิจารณ์และตั้งข้อสังเกตการศึกษาวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อ เพราะเหตุว่าวิปัสสนาธุระเป็นภาคปฏิบัติพัฒนาใจ เพื่อให้แจ้งนิพพาน ตามที่กล่าวแล้ว แต่การที่จะพัฒนาใจ จำต้องมีความรู้ และความรู้นั้นจะได้จากไหน ความรู้คือ คำสอนของพระศาสดานั้น เป็นภาษาบาลี หลักสูตรการศึกษาของสงฆ์ท่านกำหนดไว้ เรียกว่า การศึกษาปริยัติธรรม และการศึกษา ปริยัติธรรมนั้น แบ่งออกเป็น ๒ แผนก คือ แผนกนักธรรมและแผนกบาลี เมื่อเรียนจบปริยัติธรรมแล้ว จึงเรียกว่าจบคันถธุระ
ครั้นเรียนจบปริยัติธรรมแล้ว จึงขึ้นวิปัสสนาธุระ ถือว่าเป็นการเรียนระดับสำคัญ เพราะเป็นเรื่องทำนิพพานให้แจ้ง เรื่องทำนิพพานให้แจ้งนี้เป็นยอดปรารถนาของพระพุทธศาสนา และการทำนิพพานให้แจ้งนั้น มีแต่พระสงฆ์เท่านั้นที่ทำได้ เพราะมีหลักสูตรให้เรียน ซึ่งเรียกว่า วิปัสสนาธุระ แต่หลักสูตรวิปัสสนาธุระของสงฆ์ยังไม่มี การศึกษาด้านวิปัสสนาธุระจึงไม่มี พระสงฆ์เรียนจบปริยัติแล้ว (คันถธุระ) ไม่รู้จะไปเรียนวิปัสสนาธุระที่สำนักเรียนไหน รวมความว่า การศึกษาด้านวิปัสสนาธุระของสงฆ์ไม่ได้รับการรื้อฟื้น หยุดชะงักมานาน
แม้มีเรียนกันบ้างในบางวัด แต่ไม่เป็นโล้เป็นพาย ยังหาข้อยุติในเนื้อวิชาไม่ได้ ไม่ชัดเจนในเรื่องหลักสูตร ไม่ชัดเจนในเรื่องวิธีการ ไม่ชัดเจนในเรื่องปฏิบัติการ ไม่ชัดเจนในเรื่องวัดผล ในที่สุดก็เสื่อม
ครั้นมายุคหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านตั้งความปรารถนาเรียนทั้ง ๒ ธุระ ว่าถึงวิปัสสนาธุระ ท่านก็พยายามไปเรียน ใครว่าอาจารย์ดีที่ไหน หลวงพ่อไปเรียนทั้งนั้น ตามที่เราค้นคว้าได้ ปรากฏว่าหลวงพ่อเรียนมาตั้ง ๕ อาจารย์ แต่ละอาจารย์ก็ว่ากันไปคนละอย่าง
ข้อสังเกตความรู้วิปัสสนาธุระที่หลวงพ่อค้นพบ
ความรู้ที่หลวงพ่อค้นพบ ไม่เหมือนความรู้ที่เคยเรียนมาจากอาจารย์ทั้งหลาย ความรู้ที่ได้พบเห็นเป็นคนละเรื่องกันทีเดียว กล่าวคือ ความรู้ของเกจิอาจารย์ครั้งนั้น เป็นความรู้ทาง อานาปานัสสติ (กำหนดลมหายใจ) เป็นความรู้กำหนดสติ (หนอ) เป็นความรู้ทางกสิณ เช่น กสิณ ดิน น้ำ ไฟ ลม ความรู้เหล่านี้ไม่ได้กำหนดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายเลย มีแต่กำหนดใจ นอกศูนย์กลางกายทั้งนั้น แม้หลวงพ่อก็ได้รับการสอนมาอย่างนั้น
แต่ความรู้ที่หลวงพ่อได้พบเห็น ปรากฏว่าเห็นที่ศูนย์กลางกาย สิ่งที่เห็นคือ ดวงธรรม และในที่สุดคือ เห็น “ธรรมกาย” ตามรายละเอียดหนังสือมรรคผล ๑๘ กาย ของหลวงพ่อนั้น
ธรรมกาย คือ พระรัตนตรัย สรุปแล้วหลวงพ่อค้นพบพระรัตนตรัย
นั่นคือ รู้วิธีปฏิบัติทำใจ ว่าทำอย่างไร จึงเข้าถึงพระรัตนตรัย
วิธีทำใจเช่นนั้น คือ วิธีการทำใจให้ใส ตามคำสอนของพระศาสดาข้อ ๓ ที่ว่า สจิตฺตปริโยทปนํ ซึ่งแปลว่า การทำใจให้ใส นั้น มีวิธีการอย่างไร มีวิธีปฏิบัติการอย่างไร มีวิธีวัดผลอย่างไร ตั้งแต่ต้นจนปลาย
การค้นพบ “วิธีการทำใจให้ใส” นับว่าแก้อวิชชาขนานสำคัญ เพราะคำสอนของพระศาสดา ที่ว่าทำใจให้ใสนั้น คำสอนนี้ เราทราบกันทั้งนั้น แต่เราไม่ทราบวิธีทำว่ามีวิธีอย่างไร และเราไม่ทราบว่าการปฏิบัติทางใจนั้นทำอย่างไร ทำให้การศึกษาด้านวิปัสสนาธุระสูญหายมานานแสนนาน ความประสงค์ที่เราต้องการให้แจ้งนิพพาน นั้นเป็นอัน แจ้งไม่ได้ มานานแสนนานเช่นกัน
ข้อสังเกตในการเอาจริง
ต่อการเรียนวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อ
จากบันทึกของหลวงพ่อ ซึ่งบันทึกว่า “บัดนี้ ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านรู้เห็นเราก็ยัง ไม่ได้บรรลุ เรายังไม่รู้ไม่เห็น สมควรแล้วที่เราต้องกระทำอย่างจริงจัง”
เหตุใดหลวงพ่อมีความเห็นเช่นนั้น เพราะเรียนกัมมัฏฐานมาจากอาจารย์ต่างๆ ๕ อาจารย์แล้ว ความรู้ที่ได้เหล่านั้น เป็นอย่างไร เหตุใดหลวงพ่อจึงว่า “ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็นเราก็ยังไม่ได้บรรลุ เรายังไม่รู้ไม่เห็น”
นี่คือ ข้อสังเกตที่เราท่านต้องพิจารณา เพื่อให้เกิดความรู้ถูกต้องแก่เรา
เพราะก่อนที่เราจะมาพบหลวงพ่อ เราต่างก็เรียนกัมมัฏฐานกันมาคนละหลายแบบหลายอย่าง แต่ความรู้ของเราไม่ก้าวหน้า เมื่อไรก็ทำได้อยู่แค่นั้น ความรู้ของเรากี่ปีก็แค่นั้น เป็นอยู่อย่างนั้น แถมยังยึดมั่นถือมั่นเอามากๆ ด้วย
ข้อสังเกตการบำเพ็ญ
ขอบรรลุวิปัสสนาธุระต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
จากบันทึกของหลวงพ่อ ซึ่งบันทึกว่า “ตั้งสัตย์อธิษฐานแน่นอนลงไปว่าถ้านั่งลงไปครั้งนี้ ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการเป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิต”
ยังไม่เคยพบประวัติของเกจิอาจารย์ใดเป็นเช่นนี้เลย เพิ่งมาพบหลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นรูปแรก
การเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ถือว่าเป็นการลงทุนสูง ไม่มีอะไรสูงไปกว่านี้อีกแล้ว
เท่าที่เคยศึกษามา พบแต่พระพุทธองค์เท่านั้น หลวงพ่อกล้าหาญปานนี้ เป็นการเจริญรอยตามบาทพระพุทธองค์ เป็นการรื้อฟื้นวัฒนธรรมมหาวิริยะของพระพุทธองค์ เราท่านเคยอ่านพุทธประวัติทราบตรงกันว่า พระพุทธองค์ทรงอธิษฐาน ที่ใต้โคนต้นโพธิ์ หากไม่บรรลุธรรมวิเศษแล้ว แม้เลือดเนื้อจะเหือดแห้งเหลือแต่เส้นเอ็น พระองค์จะไม่ลุกจากบัลลังก์ (อาสนะหญ้าคา) นั้น (จตุรังควิริยะ กระดูก ๑ หนัง ๑ เนื้อ ๑ เลือด ๑ แม้จะแห้งไปก็ไม่ละความเพียร)
หลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นที่เกรงแก่คนทั้งหลาย ต่างถวายความเคารพ คงจะเป็นเพราะหลวงพ่อเป็นคนจริง สมเด็จพระสังฆราชป๋าทรงเคยเล่าว่า หลวงพ่อท่านเป็นคนจริงมาตั้งแต่เด็กแล้ว ครั้นมาศึกษาวิปัสสนาธุระ ก็แสดงความเด็ดเดี่ยวอีก ลองค้นประวัติหลวงพ่ออ่านดู จะทราบว่าหลวงพ่อเป็นคนจริง
เรื่องการแสดงความจริงจังต่อการบำเพ็ญธรรมนั้น อย่างเราทำไม่ได้ ต้องมีวาสนาบารมีแต่ปางหลัง บารมีต้องเข้าขั้นจึงจะทำอย่างนั้นได้ ใครๆ ก็อยากเห็นธรรมวิเศษกันทั้งนั้น และทราบว่าการเอาจริงเป็นของดี แม้หลวงพ่อทำเป็นตัวอย่างให้เราดูมาแล้ว เราก็เอาอย่างท่านไม่ได้ ทั้งที่เราอยากจะทำ แต่เราทำไม่ได้ เพราะบารมีเราไม่โตเท่าบารมีหลวงพ่อนั่นเอง
เรื่องของหลวงพ่อวัดปากน้ำ แรกๆ ยังไม่ยอมรับกันเท่าไร มีเสียงวิจารณ์กันบ้าง
แต่บัดนี้ ไม่ว่าที่ใด เอ่ยชื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำ ต่างให้ความยำเกรงและถวายความเคารพ
แม้แต่คนรุ่นใหม่ เกิดมาไม่เคยเห็นหลวงพ่อ ล้วนแต่เคารพหลวงพ่อ ไปไหว้ศพหลวงพ่อเนืองแน่นในวันเสาร์อาทิตย์ ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ตอนเช้าคนไม่มาก แต่พอสายหน่อย คนจะแน่นทันที
ข้อสังเกตคำอธิษฐานขอเห็นธรรม
รับเป็นทนายศาสนาตลอดชีวิต
จากบันทึกของหลวงพ่อ “ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุดที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้ว แด่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้วเป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์ ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแด่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้ารับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์ จนตลอดชีวิต”
หากอ่านบันทึกของหลวงพ่อที่คัดลอกมานี้หลายเที่ยว เราพอสรุปสาระได้ ดังนี้
๑. ธรรมที่พระราชทานนั้น เป็นธรรมที่พระศาสดาทรงตรัสรู้แล้ว ชนิดง่ายที่สุด
๒. ธรรมที่พระราชทานนั้น ต้องเป็นคุณแก่พระศาสนา หากเป็นโทษแล้ว อย่าทรงพระราชทาน
๓. หลวงพ่อรับเป็นทนายให้แก่ศาสนาไปตลอดชีวิต
เราทราบแล้วว่า หลวงพ่อเห็นธรรมตามคำสอนข้อ ๓ คือ สจิตฺตปริโยทปนํ แปลว่า การทำใจให้ใส นั้นมีวิธีการอย่างไร มีวิธีปฏิบัติทางใจอย่างไร ในที่สุด เห็นธรรมกาย ซึ่งธรรมกายนี้ก็คือ พระรัตนตรัยนั่นเอง ซึ่งมีเนื้อหาสาระในหนังสือ ๑๘ กายของวัดปากน้ำ
ข้อที่เราควรตั้งข้อสังเกต ก็คือ หลวงพ่ออธิษฐานใจว่า เมื่อเห็นธรรมแล้วรับเป็นทนายให้แก่ศาสนา ตลอดชีวิตของหลวงพ่อ
ทนายศาสนา ก็คือ การสงเคราะห์กิจการพระศาสนา ระงับอธิกรณ์ต่าง ๆ ทั้งด้าน คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ นี่คือ ความหมายย่อ ๆ เรามาศึกษากันว่า หลังจากหลวงพ่อบรรลุธรรมกายแล้ว หลวงพ่อเป็นทนายให้แก่ศาสนาอย่างไรบ้าง
สรุปผลการศึกษาปริยัติธรรมและวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อ
ด้านปริยัติธรรม หลวงพ่อได้รับพระราชทานพัดเทียบเปรียญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔
ด้านวิปัสสนาธุระ บรรลุวิชาธรรมกาย (ธรรมกายศาสตร์ – ธกศ.)
บางส่วนจากหนังสือ อภินิหารหลวงพ่อวัดปากน้ำ หน้า 11 : อ่านเพิ่มเติม