การศึกษาเบื้องต้นของหลวงพ่อ

การประกอบอาชีพเบื้องต้น


     เมื่อเรียนหนังสือจากสำนักวัดแล้ว หลวงพ่อมีวัยโตขึ้น จึงช่วยบิดาประกอบอาชีพ อาชีพของหลวงพ่อคือ ค้าขาย ล่องเรือเอี้ยมจุ๊นไปขายข้าวกับบิดา ในจังหวัดนครปฐมและตามโรงสีในกรุงเทพ ฯ
     ต่อมาหลวงพ่อต้องกำพร้าบิดา เนื่องจากบิดาได้ตายไป หลวงพ่อจึงทำการค้าแทนบิดาเรื่อยมา งานการค้าของหลวงพ่อดำเนินมาเป็นปกติ อยู่มาวันหนึ่งหลวงพ่อเกิดเบื่อหน่ายต่ออาชีพที่ทำอยู่ ด้วยเหตุเส้นทางเดินเรือมีโจรจะปล้นจี้
     ความเบื่อหน่ายของหลวงพ่อ เกิดจากประสบการณ์จริง เป็นเหตุการณ์ซึ่งหน้า หลวงพ่อพิจารณาจนเกิดอารมณ์กัมมัฏฐานสู่ใจ กัมมัฏฐานที่ว่านั้นคือ “อสุภกัมมัฏฐาน” ได้แก่ การระลึกรู้สู่จิต ว่าความตายจะมาถึง เราหนีความตายไปไม่ได้ จนเกิดความสลดใจ แล้วคิดจะบวชเป็นพระ
     ตอนนั้นหลวงพ่อเป็นฆราวาสอายุระหว่าง ๑๘-๑๙ ปี อยู่ในวัยหนุ่ม ยังไม่มีความรู้เรื่องพระเรื่องเจ้า แม้จะเคยอยู่วัดเพื่อเรียนหนังสือ ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะนำความรู้ที่ได้ยินได้ฟังมาขบคิด เพราะตอนนั้นเป็นเด็กเล็ก เขาให้เรียนหนังสือ ก็มุ่งแต่จะให้อ่านออกเขียนได้สถานเดียว
     การที่คนหนุ่มเกิดการระลึกรู้เทวทูต ๔ คือ การแก่ การเจ็บ การตาย การเป็นสมณะ นับว่าถูกหลักของโพธิสัตว์ทีเดียว แม้ไม่มีใครสอนก็นึกได้ โปรดศึกษาเรียนรู้บันทึกของหลวงพ่อ ซึ่งหลวงพ่อบันทึกไว้เอง ดังนี้
     ค้าขายมาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปีเศษ ๆ นับแต่บิดาล่วงไปก็เป็นพ่อค้าแทนบิดา เลี้ยงมารดามาจนถึงอายุ ๑๙ ปี ตรงนี้ได้ปฏิญาณตัวบวชจนตาย ด้วยมามีอุปสรรคเกิดขึ้นในระหว่างขายข้าวแล้วนำเรือเปล่ากลับบ้าน เข้าลัดที่คลองบางอีแท่น (ปากลัดเข้าคลองบางอีแท่น) เหนือตลาดใหม่ แม่น้ำนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ในลัดนี้ไม่สู้ไกลนัก แต่พวกโจรชุกชุม ครั้นเข้าลัดเข้าไปเล็กน้อย ก็มาคิดในใจของตัวว่า คลองก็แสนเล็ก โจรก็ร้าย ท้ายเรือก็ไล่เลี่ยกับฝั่ง ไม่สูงไม่ต่ำกว่ากันเท่าไรนัก น่าหวาดเสียวอันตราย เมื่อโจรมาก็ต้องยิงหรือทำร้ายคนท้ายก่อน ถ้าเขาทำเราได้ก่อน เราก็ไม่มีทางที่จะสู้เขา ถ้าเราเอาอาวุธปืนแปดนัดไว้ทางหัวเรือ แล้วเราไปถ่อเรือทางลูกจ้าง หากโจรมาทำร้าย เราก็จะมีทางสู้ได้บ้าง คิดดังนี้แล้วก็เรียกลูกจ้างที่ถ่อเรือแถบหัวเรือมาถือท้าย แล้วเราออกไปถ่อแทน ถ่อเรือไปก็คิดไป เรือก็เกิดเข้าที่เปลี่ยว ยิ่งขึ้นทุกที ความคิดก็ถี่ขึ้นว่า ลูกจ้างที่เราจ้างมานี้ คนหนึ่งก็ไม่กี่บาท เพียง ๑๑ บาท หรือ ๑๒ บาทเท่านั้นส่วนตัวเราเป็นเจ้าของทั้งทรัพย์ทั้งเรือหมด ส่วนการตาย จะให้ลูกจ้างตายก่อนเป็นการไม่ถูกต้อง เอาเปรียบลูกจ้างมากเกินไปไม่สมควร ถ่อไปก็คิดไปดังนี้ และคิดถี่หนักเข้า แล้วจึงตัดสินใจเด็ดขาดลงไป “เราผู้เป็นเจ้าของให้เราตายก่อนดีกว่าจึงจะสมควร”

     คิดตกลงแล้วก็เรียกลูกจ้างให้มาถ่อ ตัวเองก็หยิบปืนแปดนัดที่เอาไปไว้ข้างหัวเรือ มาไว้ให้ใกล้ตัวเมื่อใกล้จะออกปากลัด น้ำขึ้นเรือข้าวที่หนักก็ตามน้ำขึ้นเข้ามาประดังกันแน่น จีนก็ส่งเสียงแต่ว่า ตู้อ้าๆ ครั้นออกก็ไม่ได้ ครั้นจะเข้าก็ไม่ได้ แต่พอน้ำน้อยลง เรือของเราต่างฝ่าย ต่างปักหลักกรานหน้าจอดนิ่งกันอยู่
     เราเป็นคนท้าย เมื่อผ่านพ้นอันตรายมาแล้ว ก็มาคิดว่า การหาเงินหาทองนี้ลำบาก จริงๆ เจียวหนา บิดาของเราก็หามาดังนี้ เราก็หาซ้ำรอยบิดาตามบิดาบ้าง เงินแลทองที่หากันทั้งหมดด้วยกันนี้ต่างคนก็ต่างหา ไม่มีเวลาหยุดด้วยกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบเร่งหาให้มั่งมี ก็เป็นคนต่ำและเลว ไม่มีใครนับถือและคบหา เข้าหมู่เขาก็อายเขา เพราะเป็นคนจนกว่าเขา ไม่เทียมหน้าเทียมไหล่กับเขา
     ปุรพชนต้นสกุลของเราก็ทำกันมาดังนี้ เหมือนๆ กัน จนถึงบิดาของเราและตัวของเรา ก็บัดนี้ ปุรพชนแลบิดาของเราไปทางไหนหมด ก็ปรากฏแก่ใจว่า ตายหมดแล้ว แล้วตัวเราเล่าก็ต้องตายเหมือนกัน ใจก็ชักเสียวๆ เมื่อนึกถึงความตายที่จะมาถึงตัวโดยไม่มีข้อสงสัยเลย เราต้องตายแน่ๆ บิดาของเรามาล่องข้าว ขึ้นจากเรือข้าวก็เจ็บมาตามทางแล้ว ขึ้นจากเรือข้าวไม่กี่วันก็ถึงแก่กรรม
     วันที่บิดาถึงแก่กรรม เราช่วยพยาบาลอยู่ ไม่ได้เห็นเลยที่จะเอาอะไรติดไป ผ้าที่นุ่งแลร่างกายเราก็ดูแลอยู่ ไม่เห็นมีอะไรหายไป ทั้งตัวเราแลพี่น้องของเรา ที่เนื่องด้วยแกตลอดถึงมารดาของเรา ก็อยู่ไม่เห็นมีอะไรเลยที่ไปด้วยแก แกไปผู้เดียวแท้ๆ ก็ตัวเราเล่าก็ต้องเป็นดังนี้ เคลื่อนความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้แน่
     เมื่อคิดตกลงใจได้ดังนี้แล้ว ก็ลองทำเป็นตายดู นอนแผ่ลงไปที่ท้ายเรือนั้นแล้วก็ทำตาย ครั้งตายแล้วก็ทำเป็นไปหาคนที่เป็นญาติบ้าง พี่น้องบ้าง เพื่อนที่ชอบกันบ้าง เขาก็ไม่เห็นเรา เพราะเราเป็นผี เราก็เอาก้อนดินบ้าง ไม้บ้างโยนหรือปาเข้าไปให้ถูก เพราะเขาไม่เห็นตัวเรา เขาก็ต้องบอกผีโยนมาหรือปาเข้ามา ไปหาคนโน้นก็ไม่เห็น มาหาคนนี้ก็ไม่เห็น คิดดังนี้แหละจนเผลอตัว
     แต่พอรู้สึกตัวขึ้นมา ก็รีบลุกขึ้นจุดธูป อธิษฐานในใจของตัวเองว่า “ขออย่าให้เราตายเสียก่อน ขอให้บวชเสียก่อนเถิด ถ้าบวชแล้วไม่สึกจนตลอดชีวิต” ตรงนี้ บวชจริงมาเสียแต่อายุ ๑๙ ปีเศษแล้ว
     ตั้งแต่นั้น ก็ประกอบอาชีพตามปกติของพ่อค้า จนอายุครบ ๒๒ โดยปีแล้วก็ปรารภถึงการบวชในปีนั้น พอถึงเดือน ๘ ข้างขึ้น ก็ขนข้าวลงเรือเต็มลำ บอกแก่ลูกจ้างให้นำไปขายโรงสีในกรุงเทพฯ ส่วนตัวก็เข้าอยู่วัดเป็นเจ้านาค ฝึกหัดเบื้องต้น แห่งการอุปสมบท ในสำนักพระปลัด ยังผู้เป็นหลวงตาของตัว ฯ

(นี่คือ บันทึกของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ตอนหนึ่ง)

 

 

บางส่วนจากหนังสือ อภินิหารหลวงพ่อวัดปากน้ำ หน้า 5 : อ่านเพิ่มเติม